โดย วสิษฐ เดชกุญชร
ดูเหมือนว่า จะมีผู้ลืม หรือไม่รู้ (หรือทำเป็นลืม หรือทำเป็นไม่รู้) เรื่องของพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ที่เกี่ยวกับการแต่งตั้งและถอดถอนข้าราชการตำรวจอยู่
ก่อนอื่น ควรเข้าใจว่า ระบอบการปกครองเมืองไทยนั้น เป็นระบอบประชาธิปไตยที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตรงที่ควรจำให้ได้นั้นคือคำว่า "ประชาธิปไตย" ในระบอบประชาธิปไตยนั้น ไม่ว่าประเทศไหนๆ อำนาจอธิปไตยก็เป็นของประชาชนทั้งนั้น แม้จะยังมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอยู่ อย่างในเมืองไทยและอีกหลายๆ ประเทศ พระมหากษัตริย์ก็ทรงใช้อำนาจอธิปไตยแทนประชาชนเท่านั้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับบัญญัติไว้ชัดเจนเช่นนั้นมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับแรก ที่ประกาศใช้ใน พ.ศ.2475
และรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (พ.ศ.2550) ก็บัญญัติไว้อย่างเดิมว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของ "ปวงชนชาวไทย" และพระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนั้น ทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนั้น
รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่มีบัญญัติไว้ตรงไหนในมาตราใดเลย ว่าพระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจในการแต่งตั้งหรือถอดถอนข้าราชการตำรวจ มีแต่ในพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 (มาตรา 26) ที่ระบุว่า การแต่งตั้งยศข้าราชการตำรวจสัญญาบัตร ให้กระทำ "โดยพระบรมราชโอกงการ" และการถอดถอนก็ให้กระทำ "โดยพระบรมราชโองการ" เช่นเดียวกัน
การแต่งตั้งและถอดถอน (พ.ต.ท.) ทักษิณ ชินวัตร ผู้ต้องคำพิพากษาจำคุก และหนีโทษไปอยู่ต่างประเทศ เป็นมาตรการทางการบริหาร ไม่ใช่พระราชอำนาจตามรัฐธรรมนูญ และสมมุติว่าเป็น แต่ในการใช้พระราชอำนาจ พระมหากษัตริย์ก็ทรงถูกจำกัดโดยรัฐธรรมนูญอยู่ดี
พระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งใครตามพระราชอัธยาศัย มิใช่ว่าทรงนึกจะแต่งตั้งใครให้มียศอะไร สูงต่ำเพียงไหน ก็ทรงแต่งตั้งคนนั้นได้ แต่การแต่งตั้งต้องเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง พระมหากษัตริย์เพียงแต่ทรงลงพระปรมาภิไธยในประกาศพระบรมราชโองการแต่งตั้งเท่านั้น
แม้การแต่งตั้งสมเด็จพระบรมราชินี พระราชโอรส หรือพระราชธิดา ให้มียศเป็นนายทหาร ก็ไม่ได้เกิดหรือมาจากพระราชดำริ แต่ขึ้นต้นโดยกองทัพนั้นๆ ตามกฎหมาย
เรื่องการถอดยศก็เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องเช่นเดียวกัน พระมหากษัตริย์จะทรงทำโดยพระราชอัธยาศัย ทรงนึกจะถอดยศใครก็โปรดเกล้าฯให้ถอดไม่ได้ จะถอดยศทหาร กองทัพก็ต้องเป็นผู้ขึ้นต้นดำเนินการ จะถอดยศตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ต้องเป็นผู้ขึ้นต้นดำเนินการ และการดำเนินการต้องเป็นไปตามกฎหมายเหมือนกัน
ส่วนการเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์นั้น รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันบัญญัติในมาตรา 192 ว่าเป็นพระราชอำนาจ แต่วิธีดำเนินการก็เริ่มต้นที่กระทรวง ทบวง กรม ที่เกี่ยวข้อง ตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับ พระมหากษัตริย์ไม่เคยทรงเรียกคืนตามพระราชอัธยาศัย
เพราะฉะนั้น ใครที่กำลังพยายามจะให้พระราชทานอภัยโทษ หรือไม่ให้ทรงถอดยศ (พ.ต.ท.) ทักษิณ ชินวัตร โดยอ้างว่าเป็นพระราชอำนาจนั้น จึงลืม หรือไม่รู้ หรือทำเป็นลืม หรือทำเป็นไม่รู้
จบเรื่องพระราชทานยศและถอดยศแล้ว ต่อไปนี้ ผมขอนำเอาคำถวายสัตย์ปฏิญาณ ของนายทหารและตำรวจผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์ รามาธิบดี ซึ่งเป็นบำเหน็จความชอบในราชการแผ่นดินเป็นพิเศษ อันเป็นพระราชดำริแรกเริ่มในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มาลงให้อ่านกัน ดังนี้
"ข้าพระพุทธเจ้า (ออกชื่อผู้ถวายสัตย์ปฏิญาณ) ขอพระราชทานกระทำสัตย์ปฏิญาณสาบานตัว ต่อประเทศชาติ และประชาชนชาวไทย เฉพาะพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เฉพาะพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ท่ามกลางมหาสันนิบาตนี้ว่า ข้าพระพุทธเจ้า ผู้เป็นสมาชิกแห่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี จะภักดีต่อชาติบ้านเมือง จะซื่อสัตย์ต่อประชาชนและต่อหน้าที่ จะปฏิบัติการทุกอย่างโดยเต็มกำลังสติปัญญาความสามารถ และโดยความเสียสละ เพื่อความเจริญ ความสงบสุข และความมั่นคงไพบูลย์ของประเทศชาติไทย จนตราบเท่าชีวิตร่างกายจะหาไม่ หากข้าพระพุทธเจ้าประพฤติปฏิบัติฝืนคำสัตย์ปฏิญาณนี้เมื่อใด ขอความวิบัติจงบังเกิดแก่ข้าพระพุทธเจ้าเมื่อนั้นโดยฉับพลันทันที อย่าให้มีความสุขสวัสดีด้วยประการใดๆ หากข้าพระพุทธเจ้าดำรงมั่นในสัตย์ปฏิญาณนี้ยั่งยืนไป ขออานุภาพพระรัตนตรัยและเทพยดาอารักษ์ มีพระสยามเทวาธิราช เป็นต้น จงบันดาลความสุขความสวัสดีแก่ข้าพระพุทธเจ้าทุกเมื่อ ให้ข้าพระพุทธเจ้ามีความเจริญในหน้าที่ราชการ ได้เป็นกำลังทำนุบำรุงประเทศชาติสืบไป สมตามปณิธานปรารถนาจงทุกประการ ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ"
ขอแถมท้ายด้วยคำสาบานของทหารราชวัลลภรักษาพระองค์ ที่ถวายต่อพระพักตร์เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาทุกปี
"ข้าพเจ้าจักยอมตายเพื่ออิสรภาพและส่วนรวมแห่งชาติ
ข้าพเจ้าจักรักษาไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ข้าพเจ้าจักอยู่ในศีลธรรมของศาสนา
ข้าพเจ้าจักเชิดชูและรักษาไว้ซึ่งพระบรมเดชานุภาพแห่งพระมหากษัตริย์
ข้าพเจ้าจักเชื่อถือผู้บังคับบัญชา และปฏิบัติตามคำสั่งอย่างเคร่งครัด ทั้งจักปกครองแก่ผู้ใต้บังคับบัญชาโดยยุติธรรม
ข้าพเจ้าจักไม่แพร่งพรายความลับของทางราชการทหารเป็นอันขาด"
ที่ผมนำเอาคำถวายสัตย์ปฏิญาณและคำสาบานมาเขียนให้อ่านนี้ ก็เพราะเห็นว่า มีการไม่รู้ หรือลืม หรือทำเป็นไม่รู้ หรือทำเป็นลืม เหมือนๆ กับเรื่องพระราชอำนาจในการแต่งตั้งและถอดถอน
คนอื่นก็ช่างมันเถอะครับ แต่ที่เคยถวายสัตย์ปฏิญาณและสาบานกันไปแล้วน่ะ ผมเป็นห่วง
หน้า 6
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น