วันพฤหัสบดีที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2552

รัฐธรรมนูญ เหยื่อนักการเมือง



ข่าวการแก้ไขรัฐธรรมนูญเริ่มจะวนไปวนมา พรรคนั้นจะเอาอย่างนี้ พรรคนี้จะเอาอย่างนั้น สรุปภาพรวมถกเถียงกันมาเป็นเดือน แทบไม่มีตรงไหนที่ประชาชนได้ประโยชน์ มีแต่นักการเมืองปากมอมทั้งหลายเอาประชาชนไปอ้างว่า ที่เถียงกันมาก็ทำเพื่อประชาชน

เป็นความอัปยศอดสูของนักการเมืองไทย ที่ตีราคากฎหมายสูงสุดของประเทศเป็นเพียงแค่โสเภณี จะให้ความสำคัญก็เมื่อมีความยากเป็นการส่วนตัว และพร้อมจะถีบทิ้งหากไม่มีประโยชน์ใดๆ ให้ หากพิจารณาความต้องการของพรรคการเมืองต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะเห็นว่าขึ้นกับสถานภาพของพรรคการเมือง ว่าช่วงเวลานั้นพรรคการเมืองพรรคนั้นเป็นฝ่ายค้าน หรือฝ่ายรัฐบาล

เมื่อครั้งพรรคเพื่อไทย หรือพรรคพลังประชาชนเป็นรัฐบาล ภายใต้นายกรัฐมนตรีชื่อ สมัคร สุนทรเวช กับ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ มีความกระเหี้ยนกระหือรืออย่างเห็นได้ชัดว่า ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะมาตรา 237 กับบทเฉพาะกาลมาตรา 309 จุดประสงค์ก็เพื่อลบล้างความผิดให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน

ร้อยตำรวจเอกดอกเตอร์เฉลิม อยู่บำรุง ในวันนั้นมีวาสนาได้นั่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย บอกว่าต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 2 มาตราข้างต้น เพราะทำตามสัญญาที่เคยให้ไว้กับประชาชน แม้แต่นายใหญ่ น.ช.ทักษิณ ชินวัตร ก็แสดงจุดยืนเดียวกันนี้ และในวันนั้นไม่มีใครสักคนที่พูดว่าจะเอารัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 มาใช้แทนปี 2550 แต่พูดกันแค่ว่า แก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 ในบางมาตราที่ไม่เป็นประชาธิปไตยในความหมายของคนชื่อทักษิณเท่านั้น

เพราะอะไร! ก็เพราะพรรคพลังประชาชนรู้ดีว่า ขณะที่ตัวเป็นรัฐบาลอยู่นั้นโอกาสที่จะพลิกรัฐธรรมนูญอย่างขนานใหญ่ อาจทำให้รัฐบาลล้มลงได้

แล้วพรรคประชาธิปัตย์ในวันนั้นว่าไง? พรรคประชาธิปัตย์คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกกรณี จุดยืนคือใช้รัฐธรรมนูญไปสักระยะให้รู้ถึงข้อบกพร่องแล้วค่อยแก้ไขทีหลังขณะที่ยังเป็นฝ่ายค้าน ผ่านไปแค่พริบตาเดียวพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล กลายเป็นตัวตั้งตัวตีแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยฉีกซองเอา 6 ประเด็นสำเร็จรูปจากกรรมการสมานฉันท์มาชง โดยให้สังคมโดยรวมเข้าร่วมในการแก้ไข

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รู้ดีว่า 6 ประเด็นของกรรมการสมานฉันท์ไม่มีทางนำไปสู่ความสมานฉันท์ในชาติได้ เพราะรัฐธรรมนูญเป็นแค่ข้ออ้างในการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง แต่นายอภิสิทธิ์เลือกที่จะแก้ไขเพียงเพื่อให้ 6 ประเด็นนี้เป็นเกราะป้องกันตัวเองไม่ให้ถูกครหาว่ารัฐบาลไม่ได้ริเริ่มให้มีการสมานฉันท์ ทั้งยังสามารถยืดอายุรัฐบาลไปได้อีกหลายเดือน

รัฐธรรมนูญถูกฉุดครั้งแล้วครั้งเล่า ตามแต่นักการเมืองต้องการให้สนองตัณหาเมื่อไหร่และอย่างไร ทั้งๆ ที่โดยเนื้อแท้ของรัฐธรรมนูญปี 2550 คือฉบับปรับปรุงปี 2540 แม้จะมีที่มาจากการรัฐประหาร แต่ใช่ว่าจะเลวทรามถึงขนาดต้องฉีกทิ้ง

สาระของรัฐธรรมนูญปี 2550 แน่นกว่าปี 2540 ใน 2 หมวดหลักคือ สิทธิเสรีภาพของประชาชน กับการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ เป็นการพัฒนามาจากปี 2540 แต่นักการเมืองจัญไรพยายามใส่ไฟว่าเป็นรัฐธรรมนูญเผด็จการ

น่าแปลกที่คนญี่ปุ่นภูมิใจกับรัฐธรรมนูญของเขา ทั้งที่เป็นรัฐธรรมนูญซึ่งได้มาในฐานะผู้แพ้สงคราม หากคนญี่ปุ่นฉีกรัฐธรรมนูญที่นายพลแมคอาเธอร์ยัดเยียดให้ ป่านนี้ไม่มีใครรู้ได้ว่า การปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีการดำรงอยู่ของสถาบันจักรพรรดิ และการยกเลิกการผูกขาดทางเศรษฐกิจ จะยังคงอยู่เหมือนในปัจจุบันหรือไม่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น