วันอังคารที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2552

คดีโกงของทักษิณ

โดย สารส้ม

น่าแปลกใจมาก...

จากการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2552 ประธานรัฐสภาได้มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้ให้ข้อมูลแก่ประชาชนเกี่ยวกับการอายัดเงิน จำนวน 70,000 ล้านบาทเศษ ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และความคืบหน้าของคดีความต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และรายงานให้ประชาชนทราบ

ข้อมูลเรื่องนี้ ย่อมเป็นที่สนใจของสาธารณชนอย่างแน่นอน ทั้งในฝ่ายของคนที่ชอบทักษิณ (อย่างมีเหตุมีผล) และไม่ชอบทักษิณ (อย่างมีเหตุมีผล)

ปรากฏว่า สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้มีหนังสือแจ้งเรื่องดังกล่าวต่อ ป.ป.ช. ลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2552 หลังจากนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาแล้ว ตรวจสอบข้อมูลเรื่องดังกล่าวแล้ว และได้รายงานให้สาธารณชนทราบในเวลาต่อมาแล้ว (ผ่านเว็บไซต์)

แต่กลับไม่ปราฏว่า สาธารณชนทั่วไปจะได้รับทราบข้อมูลดังกล่าวอย่างทั่วถึงเลย !

แม้แต่ในสื่อของรัฐเอง ก็ไม่มีการนำเรื่องดังกล่าว มาอธิบายข้อเท็จจริง ที่มาที่ไป เพื่อให้สาธารณชนเข้าใจกรณีแต่ละกรณีอย่างชัดเจน

ทั้งๆ ที่ จะเป็นประโยชน์อย่างสำคัญต่อประเทศชาติ ในการที่ประชาชนจะได้เข้าใจการทำงานของกระบวนการยุติธรรมในลำดับต่อๆ ไปอย่างแท้จริง

และการที่ไม่ทำความเข้าใจ หรือตีแผ่สาระข้อเท็จจริงเหล่านั้น ยังเป็นผลให้ฝ่ายทักษิณ ได้อาศัยความไม่รู้ของสาธารณชน เป็นเครื่องมือบิดเบือน ปลุกระดมทางการเมือง โดยอำพรางผลประโยชน์ส่วนตัวในการจะเอาตัวรอดจากคดีทุจริตทั้งหลาย แอบแฝงเข้าไปอยู่ในข้อเรียกร้องทางการเมืองของประชาชนส่วนหนึ่ง

ทั้งแอบแฝงไปกับการถวายฎีกา

ทั้งแอบแฝงไปกับการเรียกร้องให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 ทั้งฉบับ แล้วเอารัฐธรรมนูญ 2540 มาใช้แทน

จากข้อมูลของ ป.ป.ช. ช่วยทำให้ทราบว่า พ.ต.ท.ทักษิณ มีคดีโกงติดตัวอยู่มากแค่ไหน บางกรณี ยังไม่เป็นที่รับรู้ในวงกว้าง

สรุปความอย่างย่นย่อที่สุด ดังนี้

1) เรื่องที่ ป.ป.ช.รับโอนมาจาก คตส. ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่คุ้นๆ กันอยู่บ้าง เช่น

การอายัดเงิน 70,000 ล้านบาทเศษ กรณีกล่าวหา พ.ต.ท.ทักษิณกระทำการอันเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจของตนเองและพวกพ้อง ทำให้มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมาก หรือได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควรสืบเนื่องจากการปฏิบัติตามหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ อันเป็นการร่ำรวยผิดปกติเสร็จสิ้น จึงได้มีมติส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สิน จำนวน 76,621,603,061.05 บาท ตกเป็นของแผ่นดิน ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 80

อัยการสูงสุดได้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กรณีรํ่ารวยผิดปกติดังกล่าว เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2551 เป็นคดีหมายเลขดำที่ อม.14/2551 ปัจจุบัน คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาฯ

นอกจากนี้ ก็ยังมีคดีที่ดินรัชดาฯ, คดีออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว 2 ตัว, คดีทุจริตเอ็กซิมแบงก์ให้เงินกู้แก่รัฐบาลพม่า 4,000 ล้านบาท, คดีแปลงค่าสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต และคดีทุจริตเงินกู้ธนาคารกรุงไทย

2) เรื่องที่อยู่ในการดำเนินการของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เช่น

(1) กรณีกล่าวหา พ.ต.ท. ทักษิณ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐทำคำแถลงการณ์ร่วมไทย - กัมพูชา (Joint Communiqu?) สนับสนุนให้ประเทศกัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก เพื่อประโยชน์ในการทำธุรกิจของตนเองในประเทศกัมพูชา

(2) กรณีกล่าวหา พ.ต.ท.ทักษิณกับพวก ว่าทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ในการประมูลงานจ้างเหมาบริการรักษาความปลอดภัย ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยวิธีพิเศษ

(3) กรณีกล่าวหา พ.ต.ท. ทักษิณกับพวก ว่าปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เกี่ยวกับการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการบริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีคัลไทย จำกัด (มหาชน) (TPI)

(4) กรณีกล่าวหา พ.ต.ท. ทักษิณกับพวก ว่าทุจริตต่อหน้าที่ เอื้อประโยชน์ให้กับบริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด ในการประกอบกิจการค้าในการเดินอากาศ

(5) กรณีกล่าวหา พ.ต.ท. ทักษิณกับพวก ว่าทุจริตต่อหน้าที่ในการดำเนินโครงการเมกกะโปรเจ็ค ในจังหวัดเชียงใหม่ โครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี และโครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเชียงใหม่

(6) กรณีกล่าวหา พ.ต.ท. ทักษิณกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ว่ากระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 กรณีซื้อที่ดินของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินโดยมิชอบ (ที่ดินรัชดา)

เรื่องนี้ เป็นการตรวจสอบคนละประเด็นกับที่ศาลฎีกาฯ มีคำพิพากษาคดีที่ดินรัชดาไปแล้ว

(7) กรณีกล่าวหา พ.ต.ท. ทักษิณกับพวก กระทำผิดเกี่ยวกับการแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยโดยมิชอบ

เรื่องนี้ ศาลปกครองเคยวินิจฉัยไปก่อนหน้านี้แล้วว่า การแปรรูป กฟผ. ในยุครัฐบาลทักษิณนั้น กระทำไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ฯลฯ

จะเห็นว่า หลายกรณี ไม่มีการพูดถึงกันเลยในพื้นที่สื่อปัจจุบัน

เชื่อว่า คนที่สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ไม่เคยรับรู้ข้อมูลข้อเท็จจริงเชิงลึก ว่าแต่ละกรณี มีการทุจริตประพฤติมิชอบอย่างไร ?

เงื่อนงำแห่งผลประโยชน์ส่วนตัวเช่นนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่เคยนำข้อเท็จจริงมาชี้แจง หรือหักล้างข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการทุจริต หรือเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจของตนเองเลย

รัฐบาล คงต้องเร่งมือให้ข้อมูลข้อเท็จจริงแก่ประชาชนโดยด่วน

มิฉะนั้น ก็คงจะมีการฉวยโอกาสอยู่ต่อไป เช่น อ้างลอยๆ ว่า ถูกรังแกบ้าง ไม่ได้รับความเป็นธรรมบ้าง อ้อนขอความสงสารบ้าง หลบหนีหมายจับแล้วไปให้ร้ายโจมตีศาลยุติธรรมอยู่นอกประเทศต่อไปเรื่อยๆ ปลุกระดมปลุกปั่นประชาชนต่อไปเรื่อยๆ ทำให้ประเทศชาติเสียโอกาสในการพัฒนาและก้าวไปข้างหน้า ฯลฯ

ทั้งๆ ที่ ประเทศไทยต้องการให้ทักษิณกลับเข้ามาพิสูจน์ความสุจริตของตนเองในชั้นศาลยุติธรรม โดยไม่ทำตัวอยู่เหนือกฎหมายบ้านเมืองอย่างนี้ต่อไป




วันที่ 14/10/2009

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น