วันพฤหัสบดีที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2552

แก้รัฐธรรมนูญ...แก้แล้ว(ใคร)ได้อะไร?

โดย

งานแก้รัฐธรรมนูญของรัฐบาลผสมประชาธิปัตย์เหมือน "ควายจมปลัก" ตัวเองก็แสดงเจตนาแต่ต้นแล้วว่า "ไม่ต้องการแก้รัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐" ในขณะที่ "เพื่อไทย" เขาก็ไปตามลีลาของเขา "มึงมาซ้าย-กูไปขวา, มึงมาขวา-กูไปซ้าย" เมื่อฝ่ายรัฐบาลบอกไม่แก้ กูก็จะแก้ กระทั่ง ส.ว.ส่วนใหญ่เขาไม่เห็นความจำเป็นเร่งด่วนอันใดต้องแก้ ยิ่งในส่วนประชาชนเอง ถ้ามีช่องให้กรอกในใบประชามติ เขาอาจกรอกข้อความว่า "จะแก้ให้มันยุ่งมากและมากปัญหาไปเพื่อพระแสงอันใด"?

ก็พวกประชาธิปัตย์นั่นแหละ รวมทั้งนายกฯ อภิสิทธิ์ ทำเก๋าเกม จะใช้การแก้-ไม่แก้เป็นตั๋วในการซื้อเวลาการเมือง ก็เลย "จับไก่" เพื่อไทยที่อยากแก้รัฐธรรมนูญดีนัก เอ้า...แก้ก็แก้ แต่จะแก้ตรงไหน อย่างไร ก็โยนให้คณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ไปสรุปประเด็นมา ฝ่ายเพื่อไทยเมื่อถูกจับไก่ก็เลยต้อง "ตกกระไดพลอยโจน"

แล้วผมอยากรู้จริงๆ ว่า พวกคุณ "แก่แดด" เขี้ยวลากกันขนาดนั้นไม่รู้หรือว่า ที่สรุปกันมา ๖ ประเด็นนั้น ถึงจะเดินตามกรอบมาตรา ๒๙๑ แต่เอาจริงๆ มันแก้ไม่ได้ เพราะขัดกฎหมายรัฐธรรมนูญในประเด็น "เป็นมาตราที่พวกตัวเองมีส่วนได้-ส่วนเสียโดยตรง"!?

ต่างคนต่างกลบไต๋ ในใจลึกๆ ประชาธิปัตย์ก็รู้ว่า "ลงท้ายก็ไม่ได้แก้" ส่วนฝ่ายเพื่อไทยนั้น ไต๋ตัวเองก็มีอยู่ว่า แก้มาตราไหนก็ได้ ถ้าเปิดช่องให้ทักษิณรอดคดี-รอดยึดทรัพย์-กลับเมืองไทยโดยไม่ต้องเข้าคุกเป็นใช้ได้

แต่ที่ชูมา ๖ ประเด็นนั้น มันบ่มิไก๊ ทักษิณไม่ได้อะไร เข้าตำรา ไก่ก็ไม่ได้ แต่กลับเสียข้าวเปลือกไปทั้งกำมือ ฝ่ายเจ้าตัว ทักษิณ-ผู้รู้ชะตาตัวเองแล้ว แต่ลูกน้องยังงมงายอยู่ใต้เกมประชาธิปัตย์ จึงอดรนทนไม่ไหว ต้องโฟนอินมาตบกะโหลกยกแก๊งกันไปกลางวงประชุมพรรค

ไม่แก้ ๖ ประเด็น แต่ต้องแก้โดยเอารัฐธรรมนูญ ๔๐ มาใช้ทั้งฉบับ!?

ก็แค่เอาสีข้างเถลือกไถลไปข้างๆ คูๆ อย่างนั้นเอง การยกเงื่อนไขให้เอารัฐธรรมนูญอื่นๆ ทั้งฉบับมาใช้แทนรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนั้น มันไม่ใช่วิสัยปัญญาชนคนการเมืองที่จะพูดแบบคนไร้สติปัญญาหากรอบปฏิบัติอันชอบตามกฎหมายมิได้อย่างนั้น เพราะก็รู้ๆ กันอยู่ การที่จะเอารัฐธรรมนูญฉบับอื่น มาใช้แทนฉบับปัจจุบันให้ทันใจ และถูกใจตามวิธีการ "แดงทั้งแผ่นดิน" ของทักษิณ มันก็มีวิธีเดียว คือ

ปฏิวัติ แล้วฉีกกกกทิ้ง!!!!

หรือจะเอาฉบับไหน หรือจะเขียนใหม่ตามใจแม้ว ตามใจเมีย ก็ตามสบาย นั่นแหละความหมาย "แก้รัฐธรรมนูญ" ยกเอาเก่ามาแทนใหม่ทั้งฉบับตามตำรับแม้ว!

แล้วนี่อภิสิทธิ์เพริดไปแล้วกับเกมแก้รัฐธรรมนูญ แรกๆ ทำแบบจำใจ เพราะประชาธิปไตยต้องจอดทุกสถานี ก็ตอนนี้ตัวเจ้ากี้เจ้าการใหญ่เขาไม่เอาแล้ว ก็ควรเลิกเล่นเกมแก้รัฐธรรมนูญเสียที จะต้องไปตั้งกรรมการ ๒ สภามายกร่างฯ ไปเพื่ออะไร ระวังเถอะ ขืนไกลไปถึงขั้นทำประชามติด้วยงบ ๒,๐๐๐ ล้านบาทละก็

อภิสิทธิ์-ชาตินี้ไม่มีฟื้น!

เพราะนอกจากผลาญไป ๒,๐๐๐ ล้านแล้ว ประชามติที่ได้มา ซึ่งน่าจะลบมากกว่าบวกด้วยซ้ำ นอกจากไม่มีผลคุ้มค่าอะไรแล้ว ที่สำคัญคือ ๖ ประเด็นนั้น ถ้าเข้าสู่กระบวนการชี้ขาดออกมาว่า "ขัดกฎหมาย" นำเข้าสู่การแก้ไขไม่ได้ แล้วใครจะรับผิดชอบ!?

ในเมื่อเพื่อไทยเขาล้ม "มติวิป ๓ ฝ่าย" ก็ถือโอกาส "เลิกกันไป" ก็จบเรื่อง-จบปัญหา แล้วจะมาบ้ากันต่ออยู่เพื่ออะไร รัฐธรรมนูญปี ๕๐ นี้ ก็ทราบกันอยู่ว่า ร่างขึ้นมาเหมือน "ยันต์ปิดปากหม้อ" เป็นการใช้สยบมาร-ปราบผีร้าย เพื่อเปิดโอกาสแก้ไขบ้านเมืองให้คืนสภาพโดยเร็ว พูดอีกที ก็เป็นที่รับทราบด้วยวิสัยวิญญูชนทั่วไปว่า

เมื่อถึงเวลาพร้อมก็ต้องแก้ไข หรือเดินเข้ากรอบเพื่อปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ และบรรยากาศวิไล!

ถ้าจะว่าไปแล้ว ทักษิณ-ตัวใน หรือเพื่อไทยอันเป็นตัวกระดอง ก็ดัดจริต ยักกระสาย จะเอารัฐธรรมนูญปี ๔๐ ไปงั้นแหละ ใจจริงๆ แล้ว ถ้าอภิสิทธิ์บอกว่า "จะแก้รัฐธรรมนูญฉบับ ๕๐ โดยตัดมาตรา ๓๐๙ ทิ้งไป"

ทักษิณขี้เกียจจะคลานมากราบไข่อภิสิทธิ์ปลกๆ เสียด้วยซ้ำ!

ผมก็บอกแล้ว รัฐธรรมนูญ ๕๐ เจตนารมณ์ใช้เป็นยันต์ปิดปากหม้อ เอาวิญญาณชั่วร้ายถ่วงน้ำไว้ เขาไม่ได้ใจร้ายหวังเอาเป็น-เอาตาย แต่หวังเพียง "ถ่วงน้ำไว้ก่อน" เพื่อใช้เวลาว่างมาปรับปรุงบ้าน-ปรับปรุงเมือง เมื่อหมดเวร หมดกรรม ยันต์ก็จะหลุดไปเอง แล้วก็จะได้ไปผุดไปเกิดใหม่เหมือนแม่นาคพระโขนง

แต่หนังมันสะดุดหนามเตยก็ตรงที่ บรรดาผู้ขมังเวท คมช.ทั้งคณะรัฐ และคณะทหาร มันหน่อมแน้ม และห่วยแตกเอง ทำให้ยันต์ไม่ขลังเท่าที่ควร แถมมัดก็ไม่แน่น ปากหม้อเผยอเข้า-เผยอออก สัมภเวสีชั่วร้ายมันเลยโฟนอินได้รายวัน ไม่เชื่อลองไปถามกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กระทั่งหลวงพ่อ หลวงพี่ ครูเล็ก ครูใหญ่แถวในอีสานดู

มีใครบ้างที่สัมภเวสีไม่โฟนอินมาชวน "แดงทั้งแผ่นดิน" ทุกค่ำ-ทุกคืน?

แต่ถึงอย่างไร บ้านเมืองยังมีขื่อ-มีแป กฎหมายยังเป็นกฎหมาย ฉะนั้น รัฐธรรมนูญ ๕๐ ยังพอเป็นมนต์สะกดและมัดผีร้ายมิให้เหิมเกริม ออกอาละวาดตามอำเภอใจได้มากนัก

มาตรา ๓๐๙ เป็นยันต์ปิดกระหม่อมมารไว้ด้วยข้อความว่า:-

บรรดาการใดๆ ที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙ ว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าวไม่ว่าก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้ถือว่าการนั้นและการกระทำนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้

ครับ..เท่ากับว่า ทุกวันนี้ไม่เพียงใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี พ.ศ.๒๕๕๐ เท่านั้น หากแต่ยังใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว หรือรัฐธรรมนูญฉบับคณะปฏิวัติ ๑๙ ก.ย.๔๙ ที่พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการอีกฉบับหนึ่ง

ทักษิณต้องดิ้นพราดๆ เหมือนถูกน้ำร้อน หรือถูกน้ำหน่อไม้ดองสาดหลังก็เพราะ "ยันต์สะกดผี" จากมาตรานี้แหละ ส่วนอีก ๓๐๘ มาตรานั่นน่ะ เรียกว่า...ไม่ครนาขี้เรื้อน!

ฉะนั้น สันดานจึงต้องแสดงออกมาเอง ด่าลูกน้องกลางตลาดโฉงเฉง หัวหน้าวิปฝ่ายค้านที่แสนจริงใจและแม่นในกฎหมายอย่าง "นายวิทยา บุรณศิริ" เลยกลายเป็นคนเสียหมาไปโดยปริยาย ถูกหาว่าไปเข้าค่ายกลฝ่ายรัฐบาล แก้ทำไม ๕ ประเด็น ๑๐ ประเด็น กูไม่ได้อะไร

เพราะหัวใจมันอยู่ในมาตรา ๓๐๙ ประเด็นเดียว!!!!

ในความเห็นของผม รัฐธรรมนูญนั้น มีขึ้นมาเพื่อเป็นกติการองรับ ความอยู่ดี-กินดี-ดำรงชีพดี-ด้วยสิทธิ-เสรีภาพทัดเทียมกันของประชาชนภายใต้กฎหมายบัญญัติ ไม่อยู่อย่างเหยียบหัวแม่ตีนซึ่งกันและกัน เรามองและประณามกันแต่ว่า กฎหมายไม่ดี กฎหมายเป็นอุปสรรค กฎหมายไม่เอื้ออำนวย

แต่ทำไมมนุษย์ในสังคม โดยเฉพาะ "สังคมการเมือง" ไม่ย้อนมองตัวเองบ้างว่า:-

กฎหมายที่ว่าไม่ดีนั้น เพราะปิดช่องไม่ให้เราเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ได้ง่ายๆ ใช่มั้ย?

กฎหมายเป็นอุปสรรคการบริหารนั้น เพราะเราบริหารด้อยสำนึกจนอาจเป็นโทษต่อสังคมประเทศใช่มั้ย?

กฎหมายไม่เอื้ออำนวยนั้น เพราะเราบริหารแบบจะเอากฎหมายเป็นเครื่องมือโจรใช่มั้ย?

อย่ามองกฎหมายเป็นอุปสรรคต่อการบริหาร และการปกครองเสมอไป ต้องมองย้อนกลับด้วยว่า แล้วจิตเจตนา และการกระทำของเราแต่ละคน เป็นปัญหาและเป็นอุปสรรคต่อการบริหาร และการปกครอง "เพื่อประโยชน์สูงสุดของชาติ-ประชาชน" ด้วยหรือไม่?

กฎหมายรับใช้คน ฉะนั้น กฎหมายจะแก้เมื่อไหร่ แบบไหน อย่างไร ไม่ใช่เรื่องยาก แต่ที่ยาก และต้องแก้ก่อน คือ แก้ใจในแต่ละคนให้ "สุจริต" เป็นที่ตั้งก่อน

รัฐธรรมนูญ เหยื่อนักการเมือง



ข่าวการแก้ไขรัฐธรรมนูญเริ่มจะวนไปวนมา พรรคนั้นจะเอาอย่างนี้ พรรคนี้จะเอาอย่างนั้น สรุปภาพรวมถกเถียงกันมาเป็นเดือน แทบไม่มีตรงไหนที่ประชาชนได้ประโยชน์ มีแต่นักการเมืองปากมอมทั้งหลายเอาประชาชนไปอ้างว่า ที่เถียงกันมาก็ทำเพื่อประชาชน

เป็นความอัปยศอดสูของนักการเมืองไทย ที่ตีราคากฎหมายสูงสุดของประเทศเป็นเพียงแค่โสเภณี จะให้ความสำคัญก็เมื่อมีความยากเป็นการส่วนตัว และพร้อมจะถีบทิ้งหากไม่มีประโยชน์ใดๆ ให้ หากพิจารณาความต้องการของพรรคการเมืองต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะเห็นว่าขึ้นกับสถานภาพของพรรคการเมือง ว่าช่วงเวลานั้นพรรคการเมืองพรรคนั้นเป็นฝ่ายค้าน หรือฝ่ายรัฐบาล

เมื่อครั้งพรรคเพื่อไทย หรือพรรคพลังประชาชนเป็นรัฐบาล ภายใต้นายกรัฐมนตรีชื่อ สมัคร สุนทรเวช กับ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ มีความกระเหี้ยนกระหือรืออย่างเห็นได้ชัดว่า ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะมาตรา 237 กับบทเฉพาะกาลมาตรา 309 จุดประสงค์ก็เพื่อลบล้างความผิดให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน

ร้อยตำรวจเอกดอกเตอร์เฉลิม อยู่บำรุง ในวันนั้นมีวาสนาได้นั่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย บอกว่าต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 2 มาตราข้างต้น เพราะทำตามสัญญาที่เคยให้ไว้กับประชาชน แม้แต่นายใหญ่ น.ช.ทักษิณ ชินวัตร ก็แสดงจุดยืนเดียวกันนี้ และในวันนั้นไม่มีใครสักคนที่พูดว่าจะเอารัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 มาใช้แทนปี 2550 แต่พูดกันแค่ว่า แก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 ในบางมาตราที่ไม่เป็นประชาธิปไตยในความหมายของคนชื่อทักษิณเท่านั้น

เพราะอะไร! ก็เพราะพรรคพลังประชาชนรู้ดีว่า ขณะที่ตัวเป็นรัฐบาลอยู่นั้นโอกาสที่จะพลิกรัฐธรรมนูญอย่างขนานใหญ่ อาจทำให้รัฐบาลล้มลงได้

แล้วพรรคประชาธิปัตย์ในวันนั้นว่าไง? พรรคประชาธิปัตย์คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกกรณี จุดยืนคือใช้รัฐธรรมนูญไปสักระยะให้รู้ถึงข้อบกพร่องแล้วค่อยแก้ไขทีหลังขณะที่ยังเป็นฝ่ายค้าน ผ่านไปแค่พริบตาเดียวพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล กลายเป็นตัวตั้งตัวตีแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยฉีกซองเอา 6 ประเด็นสำเร็จรูปจากกรรมการสมานฉันท์มาชง โดยให้สังคมโดยรวมเข้าร่วมในการแก้ไข

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รู้ดีว่า 6 ประเด็นของกรรมการสมานฉันท์ไม่มีทางนำไปสู่ความสมานฉันท์ในชาติได้ เพราะรัฐธรรมนูญเป็นแค่ข้ออ้างในการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง แต่นายอภิสิทธิ์เลือกที่จะแก้ไขเพียงเพื่อให้ 6 ประเด็นนี้เป็นเกราะป้องกันตัวเองไม่ให้ถูกครหาว่ารัฐบาลไม่ได้ริเริ่มให้มีการสมานฉันท์ ทั้งยังสามารถยืดอายุรัฐบาลไปได้อีกหลายเดือน

รัฐธรรมนูญถูกฉุดครั้งแล้วครั้งเล่า ตามแต่นักการเมืองต้องการให้สนองตัณหาเมื่อไหร่และอย่างไร ทั้งๆ ที่โดยเนื้อแท้ของรัฐธรรมนูญปี 2550 คือฉบับปรับปรุงปี 2540 แม้จะมีที่มาจากการรัฐประหาร แต่ใช่ว่าจะเลวทรามถึงขนาดต้องฉีกทิ้ง

สาระของรัฐธรรมนูญปี 2550 แน่นกว่าปี 2540 ใน 2 หมวดหลักคือ สิทธิเสรีภาพของประชาชน กับการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ เป็นการพัฒนามาจากปี 2540 แต่นักการเมืองจัญไรพยายามใส่ไฟว่าเป็นรัฐธรรมนูญเผด็จการ

น่าแปลกที่คนญี่ปุ่นภูมิใจกับรัฐธรรมนูญของเขา ทั้งที่เป็นรัฐธรรมนูญซึ่งได้มาในฐานะผู้แพ้สงคราม หากคนญี่ปุ่นฉีกรัฐธรรมนูญที่นายพลแมคอาเธอร์ยัดเยียดให้ ป่านนี้ไม่มีใครรู้ได้ว่า การปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีการดำรงอยู่ของสถาบันจักรพรรดิ และการยกเลิกการผูกขาดทางเศรษฐกิจ จะยังคงอยู่เหมือนในปัจจุบันหรือไม่

วันอังคารที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2552

คดีโกงของทักษิณ

โดย สารส้ม

น่าแปลกใจมาก...

จากการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2552 ประธานรัฐสภาได้มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้ให้ข้อมูลแก่ประชาชนเกี่ยวกับการอายัดเงิน จำนวน 70,000 ล้านบาทเศษ ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และความคืบหน้าของคดีความต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และรายงานให้ประชาชนทราบ

ข้อมูลเรื่องนี้ ย่อมเป็นที่สนใจของสาธารณชนอย่างแน่นอน ทั้งในฝ่ายของคนที่ชอบทักษิณ (อย่างมีเหตุมีผล) และไม่ชอบทักษิณ (อย่างมีเหตุมีผล)

ปรากฏว่า สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้มีหนังสือแจ้งเรื่องดังกล่าวต่อ ป.ป.ช. ลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2552 หลังจากนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาแล้ว ตรวจสอบข้อมูลเรื่องดังกล่าวแล้ว และได้รายงานให้สาธารณชนทราบในเวลาต่อมาแล้ว (ผ่านเว็บไซต์)

แต่กลับไม่ปราฏว่า สาธารณชนทั่วไปจะได้รับทราบข้อมูลดังกล่าวอย่างทั่วถึงเลย !

แม้แต่ในสื่อของรัฐเอง ก็ไม่มีการนำเรื่องดังกล่าว มาอธิบายข้อเท็จจริง ที่มาที่ไป เพื่อให้สาธารณชนเข้าใจกรณีแต่ละกรณีอย่างชัดเจน

ทั้งๆ ที่ จะเป็นประโยชน์อย่างสำคัญต่อประเทศชาติ ในการที่ประชาชนจะได้เข้าใจการทำงานของกระบวนการยุติธรรมในลำดับต่อๆ ไปอย่างแท้จริง

และการที่ไม่ทำความเข้าใจ หรือตีแผ่สาระข้อเท็จจริงเหล่านั้น ยังเป็นผลให้ฝ่ายทักษิณ ได้อาศัยความไม่รู้ของสาธารณชน เป็นเครื่องมือบิดเบือน ปลุกระดมทางการเมือง โดยอำพรางผลประโยชน์ส่วนตัวในการจะเอาตัวรอดจากคดีทุจริตทั้งหลาย แอบแฝงเข้าไปอยู่ในข้อเรียกร้องทางการเมืองของประชาชนส่วนหนึ่ง

ทั้งแอบแฝงไปกับการถวายฎีกา

ทั้งแอบแฝงไปกับการเรียกร้องให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 ทั้งฉบับ แล้วเอารัฐธรรมนูญ 2540 มาใช้แทน

จากข้อมูลของ ป.ป.ช. ช่วยทำให้ทราบว่า พ.ต.ท.ทักษิณ มีคดีโกงติดตัวอยู่มากแค่ไหน บางกรณี ยังไม่เป็นที่รับรู้ในวงกว้าง

สรุปความอย่างย่นย่อที่สุด ดังนี้

1) เรื่องที่ ป.ป.ช.รับโอนมาจาก คตส. ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่คุ้นๆ กันอยู่บ้าง เช่น

การอายัดเงิน 70,000 ล้านบาทเศษ กรณีกล่าวหา พ.ต.ท.ทักษิณกระทำการอันเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจของตนเองและพวกพ้อง ทำให้มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมาก หรือได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควรสืบเนื่องจากการปฏิบัติตามหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ อันเป็นการร่ำรวยผิดปกติเสร็จสิ้น จึงได้มีมติส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สิน จำนวน 76,621,603,061.05 บาท ตกเป็นของแผ่นดิน ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 80

อัยการสูงสุดได้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กรณีรํ่ารวยผิดปกติดังกล่าว เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2551 เป็นคดีหมายเลขดำที่ อม.14/2551 ปัจจุบัน คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาฯ

นอกจากนี้ ก็ยังมีคดีที่ดินรัชดาฯ, คดีออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว 2 ตัว, คดีทุจริตเอ็กซิมแบงก์ให้เงินกู้แก่รัฐบาลพม่า 4,000 ล้านบาท, คดีแปลงค่าสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต และคดีทุจริตเงินกู้ธนาคารกรุงไทย

2) เรื่องที่อยู่ในการดำเนินการของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เช่น

(1) กรณีกล่าวหา พ.ต.ท. ทักษิณ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐทำคำแถลงการณ์ร่วมไทย - กัมพูชา (Joint Communiqu?) สนับสนุนให้ประเทศกัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก เพื่อประโยชน์ในการทำธุรกิจของตนเองในประเทศกัมพูชา

(2) กรณีกล่าวหา พ.ต.ท.ทักษิณกับพวก ว่าทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ในการประมูลงานจ้างเหมาบริการรักษาความปลอดภัย ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยวิธีพิเศษ

(3) กรณีกล่าวหา พ.ต.ท. ทักษิณกับพวก ว่าปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เกี่ยวกับการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการบริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีคัลไทย จำกัด (มหาชน) (TPI)

(4) กรณีกล่าวหา พ.ต.ท. ทักษิณกับพวก ว่าทุจริตต่อหน้าที่ เอื้อประโยชน์ให้กับบริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด ในการประกอบกิจการค้าในการเดินอากาศ

(5) กรณีกล่าวหา พ.ต.ท. ทักษิณกับพวก ว่าทุจริตต่อหน้าที่ในการดำเนินโครงการเมกกะโปรเจ็ค ในจังหวัดเชียงใหม่ โครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี และโครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเชียงใหม่

(6) กรณีกล่าวหา พ.ต.ท. ทักษิณกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ว่ากระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 กรณีซื้อที่ดินของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินโดยมิชอบ (ที่ดินรัชดา)

เรื่องนี้ เป็นการตรวจสอบคนละประเด็นกับที่ศาลฎีกาฯ มีคำพิพากษาคดีที่ดินรัชดาไปแล้ว

(7) กรณีกล่าวหา พ.ต.ท. ทักษิณกับพวก กระทำผิดเกี่ยวกับการแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยโดยมิชอบ

เรื่องนี้ ศาลปกครองเคยวินิจฉัยไปก่อนหน้านี้แล้วว่า การแปรรูป กฟผ. ในยุครัฐบาลทักษิณนั้น กระทำไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ฯลฯ

จะเห็นว่า หลายกรณี ไม่มีการพูดถึงกันเลยในพื้นที่สื่อปัจจุบัน

เชื่อว่า คนที่สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ไม่เคยรับรู้ข้อมูลข้อเท็จจริงเชิงลึก ว่าแต่ละกรณี มีการทุจริตประพฤติมิชอบอย่างไร ?

เงื่อนงำแห่งผลประโยชน์ส่วนตัวเช่นนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่เคยนำข้อเท็จจริงมาชี้แจง หรือหักล้างข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการทุจริต หรือเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจของตนเองเลย

รัฐบาล คงต้องเร่งมือให้ข้อมูลข้อเท็จจริงแก่ประชาชนโดยด่วน

มิฉะนั้น ก็คงจะมีการฉวยโอกาสอยู่ต่อไป เช่น อ้างลอยๆ ว่า ถูกรังแกบ้าง ไม่ได้รับความเป็นธรรมบ้าง อ้อนขอความสงสารบ้าง หลบหนีหมายจับแล้วไปให้ร้ายโจมตีศาลยุติธรรมอยู่นอกประเทศต่อไปเรื่อยๆ ปลุกระดมปลุกปั่นประชาชนต่อไปเรื่อยๆ ทำให้ประเทศชาติเสียโอกาสในการพัฒนาและก้าวไปข้างหน้า ฯลฯ

ทั้งๆ ที่ ประเทศไทยต้องการให้ทักษิณกลับเข้ามาพิสูจน์ความสุจริตของตนเองในชั้นศาลยุติธรรม โดยไม่ทำตัวอยู่เหนือกฎหมายบ้านเมืองอย่างนี้ต่อไป




วันที่ 14/10/2009

วันจันทร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2552

หยุดแก้รัฐธรรมนูญเพื่อตัวเอง หยุดสุมไฟให้แผ่นดิน

เจิมศักดิ์ขอคิดด้วยฅน



โดยทั่วไป ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์ส่วนรวม เวลาจะทำอะไรเพื่อประโยชน์ของตัวเอง มักจะมีความรู้สึกเขินอาย แต่นั่นเป็นข้อยกเว้นสำหรับนักการเมืองไทยจำนวนมาก

ขณะนี้ ดูเหมือนนักการเมืองในสภาจะผนึกกำลังกันเฉพาะกิจ ดำเนินการเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในประเด็นที่เป็นผลประโยชน์ส่วนตัวของนักการเมืองและพรรคการเมือง โดยไม่ปรากฏซึ่งความรู้สึกเขินอายแต่อย่างใดเลย

1) รัฐธรรมนูญ 2550 ได้ผ่านประชามติ ด้วยความเห็นชอบของประชาชน จำนวน 14.7 ล้านคน เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2550 ผ่านมาเพียง 2 ปี ยังไม่ปรากฏว่า ประชาชนหรือประเทศชาติส่วนรวมจะได้รับผลกระทบหรือความเสียหายใดๆ จากการบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้

คงมีแต่นักการเมืองทุจริต และพรรคการเมืองทุจริต จำนวนหนึ่ง ที่ต้องถูกลงโทษไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ

ตรงกันข้าม ประชาชนยังไม่ได้ผลประโยชน์ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญอย่างเต็มที่ ก็เพราะความที่นักการเมืองนั้นเอง ยังมิได้ปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญให้ครบถ้วน

แทนที่จะเอาใจใส่เร่งออกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ และจัดตั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามเงื่อนเวลาที่ปรากฎของรัฐธรรมนูญ เช่น จัดตั้งองค์การอิสระคุ้มครองผู้บริโภค องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและกฎหมาย การสร้างประมวลจริยธรรมของนักการเมือง เป็นต้น แต่บรรดา ส.ส. ส.ว. กลับสนใจแต่จะแก้รัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของตน และประโยชน์แก่พรรคการเมืองของตน

รัฐธรรมนูญ 2550 ได้ผ่านการทำประชามติเพียง 2 ปี ซึ่งบรรดา ส.ส.และส.ว. ขณะนี้ล้วนเข้าสู่ตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพียง 1 ปีเศษก็มุ่งจะแก้รัฐธรรมนูญโดยไม่เคารพมติของประชาชน เสมือนนักกีฬาที่ไม่ยอมรับผลการแข่งขัน แต่ขอทำประชามติใหม่ อาจถูกมองได้ว่าบรรดานักการเมืองเหล่านี้ ไม่ยอมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองให้เป็นไปตามกฎหมาย แต่มุ่งแก้กฎหมายให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของตนเอง

นักการเมืองเหล่านี้มีพฤติกรรมไม่ต่างจากผู้รับเหมาก่อสร้าง ที่เข้ารับงานตามแบบก่อสร้างและเงื่อนไขของการทำงาน แต่เมื่อชนะการประกวดเข้าทำงานโดยที่งานยังไม่เสร็จสิ้น ก็ขอแก้แบบก่อสร้างและเงื่อนไขเพื่อผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง

โดยประเด็นแก้รัฐธรรมนูญ 6 ประเด็น ได้แก่

(1) มาตรา 237 การยุบพรรคและการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคที่ทุจริตเลือกตั้ง

(2) มาตรา 93-98 ที่มาของส.ส.

(3) มาตรา 111-121 ที่มาของส.ว.

(4) มาตรา 190 การทำหนังสือสัญญากับต่างประเทศที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา

(5) มาตรา 265 การดำรงตำแหน่งทางการเมืองของ ส.ส.

และ (6) มาตรา 266 การแทรกแซงข้าราชการประจำ

ล้วนเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับวิธีการเข้าสู่อำนาจ กรอบแห่งอำนาจ และการตรวจสอบการใช้อำนาจของนักการเมืองทั้งสิ้น

2) การแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 6 ประเด็นดังกล่าว มิได้ช่วยแก้ไขความขัดแย้งของสังคม และไม่สามารถสร้างความสมานฉันท์ได้ แต่เป็นข้ออ้างเพื่อให้ได้ประโยชน์ในการเลือกตั้งใหม่

การแก้ไขเปลี่ยนแปลงวิธีการเลือกตั้ง ส.ส. เป็นเพียงการเปลี่ยนกติกาเลือกตั้งของนักการเมืองกันเอง จากเขตใหญ่เป็นเขตเล็ก ตอบสนองความต้องการของนายทุนพรรคการเมือง ทำให้ประชาชนเลือกผู้แทนในเขตของตนได้จำนวนน้อยลง แต่ยิ่งจะทำให้ปัญหาการซื้อเสียงรุนแรงขึ้น แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ก็หนีไม่พ้นการเจรจาตกลงกันเพื่อประโยชน์ในการเข้าสู่อำนาจของนักการเมือง ย่อมเป็นการแก้ไขเพื่อนักเลือกตั้งอย่างชัดเจน

การยกเลิกมาตรา 237 วรรคสอง จะยิ่งทำให้การซื้อเสียงรุนแรงขึ้น โดยที่พรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคไม่มีความยำเกรง หรือจะต้องสอดส่องดูแลแก้ไข เพราะไม่มีบทลงโทษเด็ดขาด อีกทั้ง จะทำให้จำกัดบุคคลผู้ได้รับโทษและอาจส่งผลให้นักการเมืองผู้ได้กระทำความผิดและได้รับโทษอยู่พ้นโทษไป

การเปลี่ยนแปลงวิธีการได้มาซึ่ง ส.ว. หากกลับไปใช้วิธีเลือกตั้งตามเดิม โดยไม่มีข้อห้ามในเรื่องการเป็นบุพการี คู่สมรส บุตรของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือ ส.ส. และห้ามเป็นสมาชิกพรรคหรือดำรงตำแหน่งใดในพรรค หรือเป็นหรือเคยเป็น ส.ส.แล้วพ้นจากตำแหน่งมา 5 ปี จะทำให้วุฒิสภากลับไปมีสภาพเป็นสภาทาส สภาหมอนข้าง หรือสภาผัวเมียเหมือนเดิม

การยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 265-266 จะเปิดโอกาสให้มีการทุจริตเชิงนโยบาย ผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะคู่สมรสและบุตรของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสามารถเป็นหุ้นส่วนหรือถือครองหุ้นบริษัทธุรกิจต่อไปได้ อาจนำไปสู่การกำหนดนโยบายที่เอื้อต่อผลประโยชน์ส่วนตัว เปิดช่องให้นักการเมืองเข้าไปดำรงตำแหน่งหรือแทรกแซงสั่งการหน่วยงานของรัฐเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว

นอกจากนี้ การแก้ไขมาตรา 190 ที่บัญญัติให้การทำสนธิสัญญาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างรุนแรงจะต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างกว้างขวาง และต้องให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบ ยังมีข้อถกเถียงว่ามีเหตุผลจำเป็นเพียงพอที่จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะบทบัญญัติดังกล่าว มิได้บังคับว่าทุกเรื่องจะต้องขออนุมัติจากรัฐสภา แต่ให้มีการออกกฎหมายลูก เพื่อกำหนด จำแนก แยกแยะ ให้เกิดความชัดเจนในทางปฏิบัติ ซึ่งรัฐบาลและรัฐสภาสามารถจะร่วมกันดำเนินการได้โดยไม่จำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ

3) ส.ส. และ ส.ว. ที่จะขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต่างมีผลประโยชน์ส่วนตนขัดแย้งกับผลประโยชน์ของส่วนรวม เป็นการกระทำที่ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 122 ที่บัญญัติ "ให้การกระทำของ ส.ส. ส.ว. ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย โดยปราศจากความขัดแย้งแห่งผลประโยชน์"

ยังปรากฏด้วยว่า ในความพยายามแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ มีบุคคลที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้เพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นเจ้าของพรรคตัวจริง หรือผู้มีอิทธิพลอำนาจเหนือพรรคตัวจริง ไม่สามารถอาสาทำงานการเมืองได้เป็นเวลา 5 ปี เช่น นายบรรหาร ศิลปอาชา นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ นายพินิจ จารุสมบัติ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน นายเนวิน ชิดชอบ และนายไพโรจน์ สุวรรณฉวี เป็นต้น คนเหล่านี้ได้เข้าประชุมตกลงเนื้อหาและวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 4 ตุลาคม 2552 โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในที่ประชุม

ดังนั้น บรรดา ส.ส. และ ส.ว. ที่ดำเนินการตามข้อตกลงดังกล่าว ย่อมส่อแสดงว่า เป็นผู้ที่ตกอยู่ภายใต้อาณัติ มอบหมาย หรือครอบงำ อันเป็นการกระทำที่ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 122 ที่บัญญัติว่า "สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา ย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย โดยไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติ มอบหมาย หรือความครอบงำใด ๆ"

การกระทำความผิดดังกล่าว มีโทษร้ายแรงว่าจงใจกระทำการขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ละเว้น หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ มีโทษขั้นถอดถอน และมีความผิดทางอาญา

4) การแก้รัฐธรรมนูญดังกล่าว เป็นการกระทำที่ขาดความตระหนักถึงหัวจิตหัวใจและความเสียสละของประชาชนจำนวนมาก ที่ได้ทุ่มเททั้งชีวิต ร่างกาย และอวัยวะเพื่อรักษารัฐธรรมนูญ นับตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2551 ผ่านเหตุการณ์ 7 ตุลาคม 2551 ได้เกิดต้นทุนความสูญเสียกับประชาชนคนไทยอย่างมหาศาล

ที่ผ่านมา รัฐบาลมิได้ตั้งใจที่จะเยียวยาบาดแผลของประชาชนที่รักและห่วงแหนกติกาของบ้านเมือง มาบัดนี้ กลับจะร่วมมือกับนักการเมืองส่วนที่เคยมีเจตนาร่วมทำร้าย จึงเป็นการยากที่จะเข้าใจว่า เหตุใดรัฐบาลปัจจุบัน จึงได้เข้าร่วมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้

การกระทำเยี่ยงนี้ เสมือนหนึ่งจงใจกรีดบาดแผลซ้ำลงไปในหัวใจของประชาชนผู้รู้สึกสูญเสียในระหว่างการต่อสู้เพื่อปกป้องรัฐธรรมนูญและการพิจารณาคดีของอำนาจตุลาการ ใช่หรือไม่

ล่าสุด ประชาชนกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อแประชาธิปไตยได้แสดงฉันทามติร่วมกันแล้วว่า หากนักการเมืองดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของตนเองดังกล่าวเมื่อใด จะมีการชุมนุมใหญ่เพื่อต่อต้านการกระทำดังกล่าวอย่างถึงที่สุด

5) การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 สามารถกระทำได้อย่างแน่นอน แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและประชาชน มิใช่ผลประโยชน์ส่วนตัวของนักการเมืองและพรรคการเมืองเยี่ยงนี้

อีกทั้ง การจะแก้ไขหรือไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญประการใดๆ ก็ควรจะเป็นไปอย่างถูกต้องตามบทบัญญัติและเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ ซึ่งได้กำหนดให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่มีอำนาจหน้าที่ได้ตามบทบัญญัติ มาตรา 244 (3) ให้ติดตาม ประเมินผล และจัดทำข้อเสนอแนะในการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ รวมตลอดถึงข้อพิจารณาเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในกรณีที่เห็นว่าจำเป็น

ปรากฏว่า ชมรม สสร.50 ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ได้ติดตามตรวจสอบการใช้รัฐธรรมนูญ พิจารณาว่า นับตั้งแต่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2550 เป็นต้นมา ยังไม่ปรากฏว่าผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีการประเมินการใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่นักการเมืองผู้มีส่วนได้เสีย กลับพยายามจะชิงแก้ไขรัฐธรรมนูญเสียเอง

ล่าสุด ชมรม สสร.50 ได้ทำหนังสือถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากละเว้น หรือจงใจไม่ปฏิบัติหน้าที่ ก็จะดำเนินการเพื่อให้มีการถอดถอนและดำเนินคดีตามกฎหมาย ต่อไป

หยุดสุมไฟให้แผ่นดิน

ปัญหาของประเทศชาติในวันนี้ ไม่ได้เกิดจากรัฐธรรมนูญ 2550 แต่เป็นปัญหาเพราะนักการเมืองเห็นแก่ตัว เห็นแก่ประโยชน์ของตัว ของพรรค และของพวกพ้อง มากกว่าจะมุ่งปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนรวมตามรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง

ดังจะเห็นได้ชัดว่า นักการเมืองบางส่วน โดยเฉพาะพรรคฝ่ายค้าน ได้พยายามกระทำทุกวิถีทางตามอาณัติหรือสั่งการของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษหลบหนีอาญาแผ่นดิน ที่ต้องการล้มเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 แต่เอารัฐธรรมนูญ 2540 ขึ้นมาใช้แทนทันที เพราะหวังประโยชน์ในประเด็นทางกฎหมาย ที่จะเป็นคุณต่อคดีทุจริตโกงกินจำนวนมากของตนและพวก ทั้งที่ศาลพิพากษาไปแล้ว และที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาล

ขณะนี้ ปัญหาของแผ่นดินมีมากหลาย ทั้งปัญหาเศรษฐกิจ สังคม ปัญหาสิ่งแวดล้อม น้ำท่วม มลพิษ ปัญหาการไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาล การไม่ติดตามบังคับใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมให้มีความศักดิ์สิทธิ์ ฯลฯ

การมุ่งจะแก้รัฐธรรมนูญ แม้จะใช้การทำประชามติเป็นเงื่อนไข หรือเป็นเหยื่อล่อ แทนที่จะปลดสลักความวุ่นวายในบ้านเมือง กลับจะเป็นการสุมไฟให้กับความขัดแย้ง และความวุ่นวายทางการเมืองขึ้นมาอีกครั้ง

เพราะนอกสภา ไม่มีใครเอาด้วย แถมคนทำในสภา ก็ยังเสี่ยงจะผิดกฎหมายและรัฐธรรมนูญอีกด้วย

หยุดแก้รัฐธรรมนูญ ที่กระทำโดยนักการเมือง เพื่อนักการเมือง

หยุดสุมไฟให้แผ่นดิน


ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
ศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัยรังสิต

วันที่ 12/10/2009