วันอาทิตย์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2552

ความสามารถในการแข่งขันของไทย

By wiwan

ในสัปดาห์ก่อน World Economic Forum (WEF) ได้ออกมาแถลงถึงรายงานการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่างๆ ในโลก ซึ่งประเทศไทยได้ตกลงมาจากอันดับที่ 34 ในปีที่แล้วมาเป็นอันดับที่ 36 ในปีนี้



การจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของ World Economic Forum ในปีนี้ จัดอันดับรวม 133 ประเทศ โดยดูในปัจจัยต่างๆ 3 กลุ่ม คือ กลุ่มข้อกำหนดพื้นฐาน ประกอบด้วย 4 ด้าน คือ สภาพแวดล้อมด้านสถาบัน (หมายถึง โครงสร้างกฎหมายและการบริหารจัดการ) ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านนโยบายเกี่ยวกับเศรษฐกิจมหภาค ด้านสุขภาพและการศึกษาพื้นฐาน



กลุ่มเสริมประสิทธิภาพ ประกอบด้วย 6 ด้าน คือ การศึกษาขั้นสูงและการฝึกอบรม ความมีประสิทธิภาพของตลาดสินค้า ประสิทธิภาพของตลาดแรงงาน ระดับการพัฒนาของตลาดการเงิน ความพร้อมของเทคโนโลยี ขนาดของตลาด (ตลาดใหญ่ทำให้ธุรกิจมีโอกาสขยายได้) และกลุ่มสุดท้าย คือ กลุ่มนวัตกรรมและระดับการพัฒนา ประกอบด้วย ระดับการพัฒนาของธุรกิจ และด้านนวัตกรรม



อย่างไรก็ดี เนื่องจากแต่ละด้านก็มีความเกี่ยวโยงกัน ทาง WEF จึงจัดกลุ่มประเทศเป็นสามกลุ่ม และให้น้ำหนักกับปัจจัยไม่เท่ากันในแต่ละกลุ่ม โดยกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ก็จะให้น้ำหนักกลุ่มข้อกำหนดพื้นฐาน 60% กลุ่มเสริมประสิทธิภาพ 35% และกลุ่มนวัตกรรม 5% กลุ่มประเทศที่กำลังเสริมสร้างประสิทธิภาพก็จะให้น้ำหนักกลุ่มข้อกำหนดพื้นฐาน 40% กลุ่มเสริมประสิทธิภาพ 50% และกลุ่มนวัตกรรม 10% ในขณะที่กลุ่มประเทศนวัตกรรม จะให้น้ำหนักคะแนนในกลุ่มข้อกำหนดพื้นฐาน 20% กลุ่มเสริมสร้างประสิทธิภาพ 50% และกลุ่มนวัตกรรม 30% เพื่อมิให้เกิดความแตกต่างกันจนเกินไป



การกำหนดกลุ่มนี้ แยกตามรายได้ต่อหัวของประชากรค่ะ โดยประเทศที่ประชากรมีรายได้ต่อหัวต่ำกว่า 2,000 ดอลลาร์ต่อปี ถือเป็นประเทศในกลุ่มที่ 1 คือกลุ่มกำลังพัฒนา ไทยเราอยู่กลุ่มที่ 2 ร่วมกันกับมาเลเซีย และจีน คือ มีรายได้ต่อหัวระหว่าง 3,000 ถึง 9,000 ดอลลาร์ต่อปี ส่วนญี่ปุ่น ฮ่องกง ไต้หวัน สิงคโปร์ อยู่กลุ่มที่ 3 คือ มีรายได้ต่อหัวมากกว่า 17,000 ดอลลาร์ต่อปี



จะเห็นว่าการแบ่งกลุ่มจะมีช่องว่างของรายได้ ทั้งนี้ ในระหว่างแต่ละกลุ่ม เขาจัดให้มีกลุ่มที่อยู่ตรงกลาง เรียกว่าอยู่ระหว่างกลุ่มที่ 1 กับ 2 เช่นอินโดนีเซียจะอยู่ในกลุ่มนี้ และกลุ่มที่อยู่ระหว่างกลุ่มที่ 2 กับ 3 เช่นประเทศเม็กซิโก และรัสเซีย



ในการจัดอันดับรวม ไทยเราได้อันดับที่ 36 โดยมีคะแนนรวม 4.56 เมื่อแยกคะแนนของด้านต่างๆ แล้วพบว่า กลุ่มข้อกำหนดพื้นฐานเราได้ 4.86 คะแนน คิดเป็นอันดับที่ 43 ส่วนกลุ่มเสริมประสิทธิภาพ ไทยเราได้ 4.46 คะแนน คิดเป็นอันดับที่ 40 และกลุ่มนวัตกรรม เราได้ 3.83 คะแนน มาเป็นอันดับที่ 47 รายละเอียดตามตารางด้านล่างค่ะ



ปัจจัย คะแนน อันดับ
กลุ่มข้อกำหนดพื้นฐาน 4.38 43
- สภาพแวดล้อมด้านสถาบัน 3.98 60
- ด้านโครงสร้างพื้นฐาน 4.57 40
- ด้านนโยบายเกี่ยวกับเศรษฐกิจมหภาค 5.37 22
- ด้านสุขภาพและการศึกษาพื้นฐาน 5.52 61
กลุ่มเสริมประสิทธิภาพ 4.46 40
- การศึกษาขั้นสูงและการฝึกอบรม 4.27 54
- ความมีประสิทธิภาพของตลาดสินค้า 4.46 44
- ประสิทธิภาพของตลาดแรงงาน 4.83 25
- ระดับการพัฒนาของตลาดการเงิน 4.49 49
- ความพร้อมของเทคโนโลยี 3.71 63
- ขนาดของตลาด (ตลาดใหญ่ทำให้ธุรกิจมีโอกาสขยายได้) 5.01 21
กลุ่มนวัตกรรมและระดับการพัฒนา 3.83 47
- ระดับการพัฒนาของธุรกิจ 4.37 43
- นวัตกรรม 3.29 57

ถ้านำคะแนนมาวิเคราะห์ก็จะเห็นว่า สิ่งที่เราได้อันดับดี มีเพียงขนาดของตลาด (ใหญ่) นโยบายด้านเศรษฐกิจมหภาค และประสิทธิภาพของตลาดแรงงานเท่านั้น นอกนั้นยังถือว่าไม่ดีเท่าที่ควร



ขอแยกสิ่งที่เราต้องรีบปรับปรุง เป็นสามกลุ่ม กลุ่มแรกใช้เงิน ก็จะสามารถทำให้ดีขึ้น คือ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ดังที่มีผู้วิจารณ์ในการสัมมนาของยูโรมันนี่ ว่า ไทยแทบจะไม่ได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มขึ้นมากนักในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ทำให้ประเทศอื่นๆ จะแซงไทยแล้ว หวังว่าเงินที่จะพัฒนาประเทศจากโครงการไทยเข้มแข็งระยะที่สองจะช่วยลบคำปรามาสนี้นะคะ



กลุ่มที่สอง ต้องใช้ทั้งเงินทั้งเวลา เพราะการจะทำให้เกิดผลจะต้องใช้เวลา คือ ด้านสุขภาพและการศึกษาพื้นฐาน การศึกษาขั้นสูงและการฝึกอบรม ความพร้อมของเทคโนโลยี และนวัตกรรม



และ กลุ่มสุดท้าย ต้องอาศัยเงินและการจัดการ คือ สภาพแวดล้อมด้านสถาบัน (โครงสร้างกฎหมายและการบริหารจัดการ) ความมีประสิทธิภาพของตลาดสินค้า ระดับการพัฒนาของตลาดการเงิน และระดับการพัฒนาของธุรกิจ



ในฐานะคนไทยที่อยากเห็นประเทศของเรากลับมาเป็นที่กล่าวขวัญของประชาคมโลกในทางที่ดี เป็นแบบอย่างที่ประเทศอื่นอยากดำเนินรอยตาม ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นในช่วงประมาณ 20 ปีที่แล้ว ขอเรียกร้องให้รัฐบาล นักการเมือง ข้าราชการ และคนไทยทุกคน มาช่วยกัน ร่วมมือกัน เพื่อให้เราเป็นประเทศที่สามารถเจริญและเติบโตได้ตามศักยภาพที่แท้จริงของเราเอง ไม่ใช่ต้องมาสะดุดขาตัวเองเพราะการเมืองหรือค่านิยมที่ผิดๆ



"หากไทยไม่ช่วยไทย ก็แล้วใครจะมาช่วยเรา"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น